พี่มาก..พระโขนง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พี่มาก..พระโขนง | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับโดย | บรรจง ปิสัญธนะกุล |
อำนวยการสร้างโดย | จิระ มะลิกุล เช่นชนนี สุนทรศารทูล สุวิมล เตชะสุปินัน ปรานต์ ธาดาวีรวัตร วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ |
เขียนโดย | นนตรา คุ้งวงษ์ บรรจง ปิสัญธนะกุล ฉันทวิชช์ ธนะเสวี |
นำแสดงโดย | มาริโอ้ เมาเร่อ ดาวิกา โฮร์เน่ พงศธร จงวิลาส ณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์ อัฒรุต คงราศรี กันตพัฒน์ สีดา |
เพลงประกอบ ภาพยนตร์โดย | ชาติชาย พงศ์ประภาพันธุ์ หัวลำโพงริดดิม |
กำกับภาพโดย | นฤพล โชคคณาพิทักษ์ |
ตัดต่อโดย | ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค |
ค่าย | จีทีเอช จอกว้างฟิล์ม |
จัดจำหน่ายโดย | จีเอ็มเอ็ม ไท หับ |
ฉาย | 28 มีนาคม พ.ศ. 2556 (ไทย) สำหรับประเทศอื่น ดูในบทความ |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
งบประมาณ | 65 ล้านบาท |
รายได้ | 523.98 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เมษายน 2556 และยังอยู่ในโปรแกรมฉาย)[1] |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
พี่มาก..พระโขนง เป็นภาพยนตร์แนวรักใคร่ สยองขวัญ และตลก ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องแม่นากพระโขนง ผีพื้นบ้านไทย กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกุล ผู้มีชื่อเสียงจากผลงาน สี่แพร่ง ตอน คนกลาง, ห้าแพร่ง ตอน คนกอง และ กวน มึน โฮ กับทั้งนำแสดงโดย มาริโอ้ เมาเร่อ เป็นพี่มาก กับดาวิกา โฮร์เน่ เป็นแม่นาก พร้อมด้วยณัฏฐพงษ์ ชาติพงษ์พงศธร จงวิลาส อัฒรุต คงราศรี และกันตพัฒน์ สีดา ซึ่งเคยร่วมแสดงใน สี่แพร่ง และ ห้าแพร่ง มาแล้ว
ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มฉายตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2556
เนื้อหา[แสดง] |
[แก้]
การผลิต
พี่มาก..พระโขนง ใช้ทุนในการสร้าง 65 ล้านบาท[2] ในการผลิตใช้งบประมาณ 30 ล้านกว่าบาท โดยเฉพาะที่ต้องสร้างเรือนไทย 2 หลังที่สร้างขึ้นใหม่ รวมถึงในฉากอื่นที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่หมด เช่น ฉากงานวัด ฉากสงคราม ขณะที่ค่าโฆษณาราว 20 ล้านบาทขึ้นไป[3]
บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ มีแนวคิดที่จะนำนักแสดงจากผลงานที่เขาเคยกำกับ ที่แสดงโดย ฟรอย เผือกเชน บอมบ์ จาก “คนกลาง” ใน สี่แพร่ง และ “คนกอง” ในห้าแพร่ง มาร่วมแสดงในผลงานภาพยนตร์ให้น่าสนใจ เต๋อ ฉันทวิชช์ ที่มาร่วมเขียนบท เสนอแนวคิดให้ทำเป็นนางนาก บรรจงก็เห็นด้วย เพราะคิดว่าน่าสนใจ คนดูคงประหลาดใจ โดยเขาจะนำตำนานแม่นากมาทำเป็นหนังย้อนยุคในมุมมองใหม่ ตีความใหม่ และสร้างภาพยนตร์ย้อนยุคที่ไม่จำเป็นต้องถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ ผนวกกับเสื้อผ้า ทรงผมออกแนวแฟชั่น และบรรยากาศ อารมณ์ ให้รู้สึก สนุก ตลก ปนสยอง
ตัวละครพี่มาก บรรจงเลือกมาริโอ้ เพราะเคยได้ร่วมงานโฆษณาด้วยกันมาก่อน และเห็นว่ามาริโอ้เล่นได้หลากหลาย และเห็นว่าคนส่วนใหญ่เมื่อคิดถึงพี่มาก จะนึกถึงผู้ชายหน้าไทย ๆ หากเป็นมาริโอ้ คงแปลกดี และเมื่ออยู่กับตัวละคร 4 คนข้างต้นคงสนุกดี
บทภาพยนตร์เรื่องนี้ ฉันทวิชช์ ร่วมเขียนกับบรรจง และนนตรา คุ้มวงศ์ ใช้เวลาเขียนบทประมาณปีครึ่ง ได้แนวคิดแรกจากบรรจงเรื่องการตีความใหม่ ในการนำเสนอในมุมมองของพี่มาก และได้เพื่อน 4 คนมาสร้างสีสัน ก่อนเขียนบทฉันทวิชช์ได้อธิษฐาน ขอพรย่านาคว่า บทที่เขียนเราต้องการสร้างความสุขให้กับผู้ชม ไม่ได้ต้องการลบหลู่[4]
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำที่ริมคลองเขิน จังหวัดสมุทรสงคราม โดยสร้างเรือนไทยเพื่อการถ่ายทำโดยเฉพาะ[5] บ้านของมากและนากได้รับแรงบันดาลใจจากภาพถ่ายโบราณ และบ้านเพื่อนพี่มาก ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ในเนื้อเรื่องบ้านมากและนากอยู่บริเวณหัวโค้ง[6] ฉากงานวัด ฝ่ายศิลป์ได้สร้างฉากบริเวณลานโล่ง ๆ ที่จังหวัดสิงห์บุรี[7]
[แก้]
นักแสดง
- มาริโอ้ เมาเร่อ รับบท พี่มาก
- ดาวิกา โฮร์เน่ รับบท แม่นาก
- กันตพัฒน์ สีดา รับบท เอ
- ณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์ รับบท เต๋อ
- อัฒรุต คงราศรี รับบท ชิน
- พงศธร จงวิลาส รับบท เผือก
- ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ รับบท พ่อค้าขายปลา
- ศิรินุช เพชรอุไร รับบท เปรียก เจ้าของร้านยาดอง
- ฌอห์ณ จินดาโชติ รับบท ปิง ลูกเจ้าของร้านยาดอง
- นิมิตร ลักษมีพงศ์ รับบท เจ้าของบ้านผีสิง
- วลัชณัฏฐ์ ประภานันยศอนันต์ (หยอง ลูกหยี) รับบท หลวงพ่อ
[แก้]
เพลงและดนตรีประกอบภาพยนตร์
เพลงประกอบของภาพยนตร์ นำเพลง "อยากหยุดเวลา" ของศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ มาขับร้องใหม่โดย อีฟ ปานเจริญ และเพลง "ขอมือเธอหน่อย" ต้นฉบับของ นันทิดา แก้วบัวสาย ขับร้องโดย มาริโอ้ เมาเร่อ, กันตพัฒน์ สีดา, ณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์, อัฒรุต คงราศรี และพงศธร จงวิลาส และดนตรีประกอบจากหัวลำโพงริดดิม ที่เคยได้รับรางวัลสาขาการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์มาแล้ว ร่วมกับชาติชาย พงศ์ประภาพันธุ์ นักประพันธ์เพลงที่เคยประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์นางนาก ที่วิสูตร พูลวรลักษณ์ ผู้บริหารจีทีเอชปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสร้างในนามไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์[8]
[แก้]
การตอบรับ
[แก้]
การตลาดและรายได้
ด้านการตลาด วิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารค่ายจีทีเอช อธิบายการตลาดของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การทำให้คนดูเข้าใจอย่างชัดเจนว่า "คอนเซ็ปต์" กับ "หน้าหนัง" เป็นอย่างไร และจะพบอะไรกับ "เนื้อใน" บ้าง[9] มีการระดมประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ หรือการตลาดรอบด้าน และการตลาดแบบปากต่อปาก [10][11] ที่ทำให้เกิดการแบ่งปันในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น มีการออกคลิปวิดีโอ "ฮาร์เลมเชก" ก่อนภาพยนตร์ฉาย ต่อมาหลังภาพยนตร์ฉาย 1 อาทิตย์ ออกคลิปวิดีโอสอนเต้นท่า "เพลงกองพัน"[12] และเมื่อภาพยนตร์มีรายได้ใกล้ 200 ล้านบาท นักแสดงเต้น "ควีโยมี" ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น ในงานแถลงข่าว[13]
พี่มาก..พระโขนง ออกฉายรอบสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 ณ พารากอนซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอน และฉายรอบทั่วไปในตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2556 วันแรกทำรายได้ 21.20 ล้านบาท เป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างรายได้เมื่อเปิดตัวในวันที่ไม่ใช่วันหยุดสูงเป็นอันดับสองรองจาก สุริโยไท นอกจากนี้ ยังสร้างรายได้ในวันจันทร์ที่ไม่ใช่วันหยุดสูงเป็นประวัติการณ์[14]
เมื่อสิ้นสัปดาห์แรก (สี่วันแรกหลังจากฉายรอบทั่วไป) ติดอันดับ 1 ของบอกซ์ออฟฟิสประเทศไทย[15] มีรายได้ 106.3 ล้านบาท[16] ในสัปดาห์ที่ 2 ของการเข้าฉาย ยังคงครองอันดับ 1 ของบอกซ์ออฟฟิสประเทศไทย[17] แม้มีภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่เข้า อย่างภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม การออกฉายของภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีทีเอช จำกัด มองว่า ไม่ใช่การแย่งรายได้ แต่เป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรม[18] เมื่อจบปลายสุดสัปดาห์ที่ 2 (เข้าฉายได้ 11 วัน) ทำรายได้สะสม 261 ล้านบาท[19] พี่มาก..พระโขนง มีรายได้สะสมมากกว่า ATM เออรัก เออเร่อ (152.5 ล้านบาท) จึงนับเป็นภาพยนตร์ที่สร้างรายได้มากที่สุดของจีทีเอช และเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้ในประเทศสูงสุด[20] [21]
ในปลายสุดสัปดาห์ที่ 3 ซึ่งอยู่ในช่วงวันสงกรานต์ (11-14 เมษายน) ยังคงครองอันดับ 1 บอกซ์ออฟฟิสประเทศไทยเป็นสัปดาห์ที่ 3 มีรายได้รับรวม 380.0 ล้านบาท[22] เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 4 (18-21 เมษายน) ยังคงครองอันดับ 1 บอกซ์ออฟฟิสประเทศไทยเป็นสัปดาห์ที่ 4 มีรายได้รับรวม 470.0 ล้านบาท[23]
สำหรับในต่างประเทศ พี่มาก..พระโขนง ออกฉายในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศแรก ออกฉายรอบทั่วไปวันที่ 5 เมษายน โดยฉายรอบกาล่า ณ โรงภาพยนตร์บลิทซ์เมกะเพล็กซ์ ศูนย์การค้าแกรนด์อินโดนีเซีย กรุงจาการ์ตา พร้อมกับการพบปะทีมนักแสดงและผู้กำกับ ในวันที่ 7 เมษายน บัตรถูกจองเต็มทุกใบตั้งแต่เปิดทำการจอง[24] ถัดมาคือ ฮ่องกง ออกฉายวันที่ 16 พฤษภาคม, กัมพูชา ออกฉายวันที่ 23 พฤษภาคม, มาเลเซีย ออกฉายวันที่ 6 มิถุนายน, สิงคโปร์ ออกฉายวันที่ 13 มิถุนายน, ไต้หวัน ออกฉายวันที่ 9 สิงหาคม[25]
[แก้]
คำวิจารณ์
ในด้านเสียงวิจารณ์ อำนาจ เกิดเทพจากผู้จัดการออนไลน์ กล่าวว่า หากนำโจทย์ที่ตั้งไว้ว่าจะทำหนังเรื่องนี้โดยใช้ "ตลก" นำหน้านั้นถือเป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย[26] นันทขว้าง สิรสุนทร มองเห็นจุดแข็งของ พี่มาก..พระโขนง มาจากผู้กำกับที่เป็นคนกำหนดทิศทางของหนัง ทั้งบท การแสดง การคัดเลือกนักแสดง การออกแบบการผลิต ฯลฯ ทำให้เข้าใจคนดูหนังยุคนี้อย่างลึก ซึ่งทำให้การวางจังหวะของหนัง การวางมุกต่าง ๆ น่าจะโดนใจคนดู[27] อภินันท์ บุญเรืองพะเนา มองว่าสิ่งที่ยอดเยี่ยมของภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของตำนานแม่นาก พระโขนง เรื่องนี้คือการกล้าที่จะริเริ่มอะไรใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมุมมองจากตัวนากมาเป็นมาก ซึ่งผู้สร้างก็กล้าฉีกขนบตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่องเลยทีเดียว[24]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น